ตำนานเรื่องเล่าเวียงน้อย

ดอยเวียงสู่ดอยงุ้ม(โง้ม)

 

             ในอดีตกาล มีพระสงฆ์ผู้ทรงศีลรูปหนึ่งชื่อว่า พระกะตาคะตะ ได้เดินธุดงค์มาจากบ้านริมออน   (ปัจจุบันคือ  บ้านออน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ )  เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณแห่งหนึ่ง(เขตอำเภอบ้านธิในปัจจุบัน) ท่านได้พบภูเขาสูงอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มองไกล ๆ มีลักษณะคล้ายรูปปากครุฑ(ปัจจุบันคือดอยงุ้ม) และเมื่อเข้าไปดูในระยะใกล้ ทางด้านทิศเหนือของภูเขา  มีลำน้ำสายหนึ่งไหลผ่านจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ มองดูแล้วใสสะอาดตา เมื่อท่านเดินธุดงค์ไปถึงยอดเขา ได้พบถ้ำแห่งหนึ่งซึ่งเป็นถ้ำที่ปิดตายท่านจึงได้นั่งบำเพ็ญภาวนา จนกระทั่งได้ทราบเรื่องราวทั้งหมด เดิมที่ในอดีตเดิมถ้ำแห่งนี้มีฤๅษีตนหนึ่งชื่อว่า  สุจาตะฤๅษี นั่งบำเพ็ญภาวนาจนถึงขั้นวิปัสสนากรรมฐาน โดยมีพญานาคชื่อว่า นาคะจาราคอยปกปักรักษาถ้ำอยู่ 

       วันหนึ่งฤๅษีได้เดินธุดงค์ไปทางทิศใต้เพื่อบิณฑบาตโปรดสัตว์  จนกระทั่งได้พบหมู่บ้าน แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขา รอบ ๆ หมู่บ้านแห่งนั้นมีแม่น้ำไหลผ่าน (ภายหลังผู้คนเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า  ลำน้ำแม่ธิ” ที่หมู่บ้านแห่งนี้ มีผู้ปกครองชื่อว่า ขุนหลวงปาระวิจา  เป็นผู้มีลักษณะที่ดี กล่าวคือ หน้าตาอิ่มเอิบ มีใจบุญสุนทาน สติปัญญาดี  และเป็นนักปกครองที่มีฐานะ   ได้สร้างบ้านไว้ทางทิศตะวันออก ติดเชิงเขาบริเวณขุนน้ำแม่ธิ  และบริเวณรอบ ๆ มีบ้านเรือนปลูกสร้างไว้อีกหลายหลัง ขุนหลวง ปาระวิจาได้ตั้งชื่อชุมชนแห่งนั้นว่า เวียงน้อย (ปัจจุบันคือ ดอยเวียง)  

       
 

 

       ขุนหลวงปาระวิจา นอกจากจะมีทรัพย์สินแล้ว ยังเป็นนักปกครองที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาที่ยากจะหาผู้เปรียบได้ ท่านได้ร่วมกับมิตรสหาย สร้างพระวิหาร พระพุทธรูป พระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้  องค์ ไว้บริเวณเชิงเขา ปัจจุบันคือบริเวณวัดพระธาตุดอยเวียง และยังสร้างมหาธาตุเจดีย์เจ้าไว้บนดอยสูง อีกด้วย วันหนึ่งพระฤๅษีสุจาตะ ได้เดินบิณฑบาตเข้าไปในคุ้มบ้านของ ขุนหลวงปาระวิจา เมื่อขุนหลวงเห็นพระฤๅษี ท่านก็เกิดความเลื่อมใสยิ่งนัก จึงได้นำข้าวปลาอาหารใส่ตระไหลทองคำ (ถาดที่ทำด้วยทองคำ) มาใส่บาตร เมื่อรับพรเสร็จ ได้ยกมือไหว้ และถามถึงที่พำนักของพระฤๅษี  จึงทราบว่าที่พำนักของท่านอยู่ที่  ดอยงุ้ม

 พระฤๅษีได้เล่าให้ขุนหลวงปาระวิจาฟังว่าที่ดอยงุ้มนั้นมีทรัพย์สมบัติอยู่มากมายรวมทั้งถาดทองคำลักษณะนี้ด้วย  ซึ่งถ้ำดังกล่าวมีพญานาคเป็นผู้คอยดูแลรักษาสมบัติทั้งหมด เมื่อขุนหลวงปาระวิจาได้ฟังก็มีความสนใจอยากจะเห็นถ้ำดอยงุ้ม พระฤๅษีได้บอกว่าผู้มีบุญวาสนาอยู่ในศีลธรรมเท่านั้น ที่จะมีโอกาสเข้าไปในถ้ำได้  ทำให้ขุนหลวงปาระวิจาใคร่ที่จะเข้าไปในถ้ำดังกล่าวให้ได้

            พระฤๅษีเห็นว่าขุนหลวงปาระวิจา เป็นผู้มีคุณธรรม จึงรับปากที่จะไปขออนุญาตพญานาค แต่พญานาคอยากจะทดสอบขุนหลวงปาระวิจาด้วยตนเอง   พระฤๅษีจึงให้พญานาคแปลงกายเป็นชายหนุ่มรูปงาม มาคอยรับใช้พระฤๅษีในขณะที่เดินทางมารับบิณฑบาตที่บ้านของขุนหลวงปาระวิจา  เพื่อให้พญานาคได้มีโอกาสทดสอบสติปัญญาของขุนหลวงปาระวิจาด้วยตัวเอง

วันหนึ่งพญานาคที่แปลงกายมา ได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับขุนหลวงปาระวิจา ก็พบว่าท่านเป็นผู้มีคุณธรรม เฉลียวฉลาดปกครองชาวเมืองด้วยความยุติธรรม ทั้งยังเป็นผู้มีบุญวาสนาที่จะเป็นผู้นำของคนในถิ่นนี้   จึงได้อนุญาตให้ขุนหลวง ปาระวิจาไปชมถ้ำดอยงุ้มได้

         ฝ่ายขุนหลวงปาระวิจา เมื่อทราบเรื่องว่าพญานาคอนุญาตให้เข้าไปในถ้ำได้ ก็รู้สึกยินดียิ่งนัก  จึงได้ชักชวนมิตรสหายจำนวน ๑๐ คน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้มีคุณธรรมทั้งสิ้น ขุนหลวงปาระวิจาและมิตรสหายได้พากันนำอาหารคาวหวานและผลไม้ ไปถวายพระฤๅษีที่ถ้ำดอยงุ้ม  และได้ชมทรัพย์สมบัติแก้วแหวนเงินทองที่มีอยู่มากมาย


          เมื่อออกจากถ้ำ  ขุนหลวงปาระวิจาก็มีความคิดที่จะนำทรัพย์สมบัติของตนมาฝากไว้ในถ้ำ  และตั้งใจที่จะมาจำศีลภาวนาที่ถ้ำแห่งนี้ ซึ่งพระฤๅษีและพญานาคก็เห็นด้วย

 

     ขุนหลวงปาระวิจาจึงได้กลับไปเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ลูกเมียฟัง พร้อมกับสั่งเสีย ให้ดูแลทรัพย์สินและบริวารซึ่งนางก็มิได้ขัดข้องแต่ประการใด หลังจากนั้นขุนหลวงปาระวิจาก็ได้ชักชวนมิตรสหายสี่คนพากันนำแก้วแหวน จำนวนหนึ่งแสนชิ้น พร้อมเครื่องไม้ใช้สอย เช่น ตะไหลแก้ว ตะไหลคำ นำไปเก็บไว้ที่ถ้ำของพญานาค แล้วชวนกันปฏิบัติธรรม  ณ สถานที่แห่งนี้เรื่อยมา

          

เวลาผ่านไปอีกหลายปี ได้มีชาวบ้านไปขอยืมสมบัติในถ้ำดอยงุ้ม ซึ่งเป็นเครื่องประดับที่ทำด้วยแก้วอย่างสวยงาม เพื่อเป็นเครื่องแต่งกายของลูกแก้วในงานบวช  แต่ปรากฏว่าในตอนหลังมีผู้ที่จิตใจละโมบบางคน คือ  เมื่อยืมของออกจากถ้ำแล้วไม่นำมาส่งคืน          

                                                                   จึงเป็นเหตุให้ดอยงุ้มต้องปิดลงจนถึงปัจจุบัน

 

           

 

 

 

 

Visitors: 65,221